วันอาทิตย์ที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2557

ชบา

ชบา

ชื่ออื่น ๆ : ดอกใหม่, ใหม่แดง, ใหม่ (เหนือ), ชุมบา, ชบาขาว, ชุมมา (ปัตตานี), บา, ชะมา (ใต้)
ชื่อสามัญ : Shoe Flower
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Hibiscus rosa-sinensis Linn.
วงศ์ : MALVACEAE


ลักษณะทั่วไป :
  • ต้น : เป็นพรรณไม้พุ่มขนาดย่อม อยู่ในจำพวกพู่ระหง ลำต้นนั้นมีความสูงประมาณ 6-7 ฟุต หรืออาจสูงได้ถึง 12 ฟุต เป็นพรรณไม้เนื้ออ่อน ส่วนเปลือกนั้นจะเหนียวมาก
  • ใบ : ใบเป็นใบเดี่ยวเป็นสีเขียว ใบโตและฐานใบกว้าง ลักษณะรูปใบมน ตรงปลายใบของมันจะแหลม ริมใบจะเป็นจักใหญ่คล้ายกับฟันเลื่อย เมื่อเราเด็ดมาขยี้จะมีเมือกเหนียว ๆ ใบมีความยาวประมาณ 6 ซม. และกว้างประมาณ 5-7 ซม.
  • ดอก : ดอกจะออกเดี่ยว ๆ อยู่ระหว่างใบ และมีกลีบอยู่ 5 กลีบ ดอกนั้นจะมีอยู่หลายสีคือ สีแดง สีขาว และสีเหลือง ตรงปลายดอกจะมนและกลม
  • เกสร : จะมีก้านเกสรยาว และจะยื่นออกมาพ้นจากกลางดอก จะมีเกสรตัวผู้เป็นสีเหลืองเกาะอู่หนาแน่นบนท่อเกสร ส่วนเกสรตัวเมียนั้นจะอยู่ตอนปลายสุดของก้านดอก
การขยายพันธุ์ : โดยการปักชำกิ่ง หรือวิธีตอนกิ่งก็ขึ้นง่าย มีดอกตลอดปี
ส่วนที่ใช้ : ใบ ดอก ราก ใช้เป็นยา
สรรพคุณ :
  • ใบ ใบประมาณ 5-10 ใบ นำใบมาล้างให้สะอาด แล้วตำรวมกับใบพุดตาน จำนวนเท่า ๆ กัน ใช้พอกคางทูม วันละ 2 เวลา เช้า-เย็น หรือจะใช้ใบชบา และใบพุดตานผสมกับ น้ำผึ้งแล้วเคี่ยวให้ขึ้น ใช้ทาตามบริเวณที่เป็นคางทูมก็ได้ ในใบนั้นจะมีสารที่เป็นเมือกเช่นเดียวกับราก ถ้าเอามาทาตามผิวหนังจะทำให้ผิวหนังนั้นชุ่มชื้น(emollient) และเป็นยาระบาย เพื่อจะไปหล่อเลี้ยงลำไส้ให้ลื่น
  • ดอก ใช้ปริมาณพอควร ชงกับน้ำ ใช้ดื่มเพื่อลดอาการไข้ ทำให้ผิวหนังชุ่มชื้น ดอกแดง นำมาแกงเลียงกินเพื่อบำรุงน้ำนม ถ้าไม่มีดอกก็ใช้ใบอ่อนแทนก็ได้ นอกจากนี้แล้วดอกชบา ยังทำให้เป็นหมันได้
  • รากสด ใช้ประมาณ 1 กำมือ นำมาโขลกให้ละเอียด พอกรักษาพิษฝี และอาการฟกบวม หรือใช้ต้มกับน้ำกิน เพื่อขับน้ำย่อยอาหาร เป็นยาเจริญอาหาร ในรากชบานั้นจะมีสารที่เป็นเมือก (mucilage) อยู่ ใช้ Althea แทนรากได้ จะทำให้ชุ่มชื้น
อื่น ๆ : หญิงชาวจีนใช้กลีบชบามาย้อมผมและคิ้วให้เป็นสีดำ นอกจากนี้ยังใช้น้ำคั้นจากกลีบ ดอกผสมกับน้ำมันโอลีฟ (Olive Oil) ในอัตราส่วนที่เท่ากัน แล้วนำไปเคี่ยวให้น้ำระเหยจนหมด ใช้ทาที่ศีรษะเป็นยาบำรุงผม ทางเชียงใหม่ใช้ดอกเป็นอาหาร และใช้รากต้มเป็นยาขับระดูเสีย ส่วนจีนและญวนใช้เปลือกเป็นยาขับระดู
ถิ่นที่อยู่ : พรรณไม้นี้มีถิ่นกำเนิดอยู่ในประเทศที่มีอากาศร้อน เช่น มาเลเซีย ไทย จีน และหมู่เกาะฮาวาย และเป็นดอกประจำชาติ ของประเทศมาเลเซีย
ตำรับยา :
  1. ใบ จะมีรสฝาดชุ่มคอ ใช้รักษาเลือดกำเดาออก คางทูม รักษาแผลบวมอักเสบ
  2. ดอก จะมีรสชุ่มคอ และเย็น ใช้ละลายเสมหะ รักษาอาการไอ เลือดกำเดาออก รักษาโรคบิด ตกขาว และแผลบวมอักเสบ
  3. รากสด ใช้พอกรักษาฝี รักษาอาการฟกบวมอันเนื่องมาจากการอักเสบ ใช้กินภายในเป็นยาขับน้ำย่อยอาหาร ทำให้อาหารมีรส รักษาประจำเดือนมาไม่ปรกติ และรักษาอาการตกเลือด
  4. รากและเปลือก ทำให้ประจำเดือนมาเป็นปรกติ รักษาอาการไอ ขับเสมหะ รักษาหลอดลมอักเสบ และมดลูกอักเสบ

 

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น